Tag Archives: การพัด

ทำยังไงถึงหายร้อน

อีก ไม่กี่วันก็ถึง “เทศกาลสงกรานต์” พร้อมๆ กับอากาศร้อนที่ทวีขึ้นเหมือนเป็นคู่แฝด บางคนบอกว่าร้อนนี้อาจถึงคราว “ตับแลบ” อย่างไม่ต้องสงสัย แล้วเราร้อนได้อย่างไร และวิธีไหนกันหนอที่จะ “ดับร้อน” ได้ “เวิร์ก” สุดๆ

งานนี้เราได้คุณหมอใจดีอย่าง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 2547 มาช่วยไขสาเหตุที่คนเรามีอาการ “รู้ร้อนรู้หนาว” ได้นั้น ก็เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เลือดอุ่น ไม่ใช่สัตว์เลือดเย็นอย่าง งู จิ้งเหลน กบ คางคก อึ่งอ่าง ฯลฯ ร่างกายจึงต้องปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ คือระหว่าง 36.5-37 องศาเซลเซียส

ดังนั้นไม่ว่าอุณหภูมิอากาศภายนอกจะมากหรือน้อยอย่างไร หากอุณหภูมิร่างกายสูงกว่านี้ เราก็จะรู้สึกร้อนขึ้นมาทันที และที่แน่ๆ ร่างกายจะต้องปรับสมดุลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมให้ได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
นอกจากนั้น ร่างกายก็ไม่ได้มีเพียงตัวรับสัญญาณความร้อน-เย็นเท่านั้น แต่ยังมีตัวรับสัญญาณการขาดน้ำ (หรือตัวรับสัญญาณที่บอกระดับความเข้มข้นของเลือด) และตัวรับสัญญาณการขาดเกลือแร่ โดยตัวรับสัญญาณทั้งสามชนิดนี้จะส่งสัญญาณไปบอกสมองให้รับรู้เพื่อกระตุ้น กลไกการปรับอุณหภูมิของร่างกายให้เริ่มทำงาน

หาก อุณหภูมิร่างกายร้อนเกินไป ระบบประสาทอัตโนมัติก็จะสั่งการให้มีการระบายความร้อนออกมา โดยเส้นเลือดจะขยายตัวขึ้นเพื่อระบายความร้อนผ่านเหงื่อที่ผุดออกมาเป็นเม็ด เล็กๆ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปริมาณวันละ 400-1,000 ซี.ซี.หรือมากกว่าแล้วแต่สภาพแวดล้อมในขณะนั้น เช่น การอยู่ในที่ร่มหรืออยู่กลางแดด อุณหภูมิรอบตัวเป็นอย่างไร และมีลมหรือไม่ โดยความชื้นในอากาศก็เป็นตัวการสำคัญที่ตัดสินว่าเหงื่อจะระเหยออกไปได้มาก หรือน้อยเพียงใด

กลไกการระบายความร้อนอีกส่วนหนึ่งของร่างกายยังอยู่ในรูปของไอเหงื่อซึ่งเรามองไม่เห็นแต่อาจมีปริมาณมากถึง 500-600 ซี.ซี./วัน โดยกลไกนี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมในเวลา ที่เรารู้สึกหนาว ซึ่งเส้นเลือดจะหดตัวลงเพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อน อีกทั้งยังมีอาการหนาวสั่นเพื่อผลิตความร้อนให้ร่างกายซะเอง

ทั้งนี้ กลไกการร้อน-หนาวยังเกี่ยวพันโดยตรงกับระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกายด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า เมื่ออากาศร้อนและร่างกายขาดน้ำจากการสูญเสียเหงื่อและไอเหงื่อจะทำให้ระดับความเข้มข้นของเลือดและเกลือแร่ในร่างกายเข้มข้นเกินไป

ร่างกายจึงต้องปรับตัวโดยส่งสัญญาณไปที่ไตเพื่อบังคับให้ปัสสาวะน้อยลงเพื่อ รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ขณะเดียวกันร่างกายก็จะรู้สึกอยากดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไป ซึ่งกลไกนี้จะเกิดขึ้นจนกว่าอุณหภูมิร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนวิธีคลายร้อนหลากหลายวิธีที่ทำได้ง่ายๆ คุณหมอใจดีแจกแจงกลไกการดับร้อนทีละอย่างๆ ให้ฟังอย่างใจเย็น…

เริ่มจากวิธีที่แสนจะคลาสสิกอย่าง “การพัด” และการใช้ “พัดลม” ว่าเป็นวิธีการเป่าเหงื่อบนผิวหนังเราให้ระเหยออกไปเร็วขึ้น เทียบกับรถยนต์แล้วก็เหมือนพัดลมพัดความร้อนจากหม้อน้ำออกไป และหากอุณหภูมิของลมต่ำก็จะทำให้มีการไหลเวียนของอากาศมากขึ้นจึงช่วยพาความ ร้อนออกไปได้ดี เช่นในสมัยนี้ที่พัดลมราคาแพงสักหน่อยจะพ่นไอน้ำออกมาด้วย

“แป้งเย็น” ถือเป็นตัวเลือกต่อมาที่หลายๆ คนแอบคิดถึง คุณหมออธิบายว่า ใน เนื้อแป้งเย็นจะมีสารบางชนิดที่ไปกระตุ้นเส้นประสาทการรับความเย็นทำให้เรา รู้สึกเย็นขึ้น แต่กระนั้นแป้งฝุ่นธรรมดาๆ ก็ช่วยคลายร้อนได้เช่นกัน คือจะช่วยดูดซับเหงื่อที่ผุดออกมาจากผิวหนังเพื่อให้ร่างกายระบายความร้อน ออกมาในรูปของเหงื่อได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะ ที่การเล่นน้ำสงกรานต์กลางแดดท่ามกลางอากาศร้อนและมีความชื้นสูงก็มักมีการ ประแป้ง เพื่อระบายความร้อนไม่ให้เป็นลมแดด (ฮีตสโตรก : Heat stroke) ด้วย คุณหมอกล่าวว่าต้องยกเครดิตให้กับความชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทย

“เครื่องปรับอากาศ” ก็เป็นอีกเครื่องใช้ประจำบ้านประจำสำนักงาน ยอดนิยมที่ใช้คลายร้อนให้เราก็เป็นกลไกง่ายๆ โดยการปรับอุณหภูมิภายนอกให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิซึ่งคนเราจะรู้สึกสบายที่ประมาณ 26 องศาเซลเซียส

ขณะที่การใช้ “ผ้าเย็น” หรือ “อาบน้ำ” หรือ “การนำน้ำเย็นมาลูบเนื้อลูบตัว” ก็ เป็นการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ช่วยดึงเอาความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ออกไปประการหนึ่ง แถมยังเป็นการนำความเย็นเข้าไปสัมผัสโดยตรง ทำให้อากาศรอบตัวบริเวณที่มีผ้าเย็นหรือน้ำเข้าไปสัมผัสเย็นขึ้น เราจึงรู้สึกผ่อนคลาย

แต่ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่ว่า เราไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานของเย็นๆ เวลาอากาศร้อนมากๆ ว่าจะทำให้ไม่สบายด้วยว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ว่าจะมีผลร้ายเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำเย็นหรือการรับประทานไอศกรีม เราจึงรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวล เว้นแต่คนๆ นั้นอาจมีอาการผิดปกติของร่างกายอยู่ก่อนแล้ว เช่นอาการอ่อนเพลียจัดและอาการของลมแดด

“ถ้า ได้รับอันตรายที่เกี่ยวกับแดดและความร้อนจนเกิดความผิดปกติและมีอาการมาก การดื่มน้ำเย็นอาจทำให้เกิดตะคริวท้อง ไม่ควรให้น้ำดื่มเพราะจะเกิดอันตรายร้ายแรงได้” คุณหมอย้ำชัดๆ อีกครั้ง

ที่สำคัญนอกจากน้ำที่ได้จากการรับประทานอาหารแล้ว หน้าร้อนนี้ทุกคนควรดื่มน้ำให้มากๆ เฉลี่ยวันละ 3 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณกำลังดี ทำให้ระบบขับถ่ายหนัก-เบาดีขึ้น เช่น ท้องไม่ผูกและฝึกนิสัยการปัสสาวะที่ดีไปในตัว

ส่วน “อาหารการกิน” ในช่วงที่มีอากาศร้อนๆ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แนะว่า เรา ควรรับประทานอาหารธาตุเย็น เช่นควรทานผักและผลไม้มากๆ จะเป็นการดีที่สุด เพราะจะมีเกลือแร่และน้ำมาก ทดแทนส่วนที่สูญเสียไปกับเหงื่อและปัสสาวะ จึงเป็นการปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย

“แต่ ผลไม้พวกนี้ก็ไม่ควรเป็นผลไม้ร้อนเกินไปอย่างทุเรียน เงาะ หรือลำไยที่อาจทำให้ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว แต่แนะนำว่าควรเป็นผักใบเขียวและผลไม้ที่มีน้ำเยอะๆ จะดีกว่า อาทิ แตงโม คะน้า ตำลึง ฯลฯ และไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของหวานจัด เพราะเป็นอาหารธาตุร้อน ยิ่งจะทำให้ร่างกายเก็บน้ำไม่อยู่เพิ่มขึ้นไปอีก” คุณหมอใจดีจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แนะนำ.

จากผู้จัดการOnline