Category Archives: reviews

FUJITSU PRIMERGY TX 120

ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 ของฟูจิตสึ เป็นที่สุดในโลกถึงสามด้าน เล็ก เงียบและประหยัด ให้ความสะดวกกับธุรกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งพาห้องเซิร์ฟเวอร์ที่แยกสัดส่วนโดย เฉพาะ
ฟูจิตสึ คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการโซลูชั่นเชิงกลยุทธ์แก่บริษัทชั้นนำของโลกมากมาย และพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีอันทันสมัย ได้เปิดตัว ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 (PRIMERGY TX120) เซิร์ฟเวอร์แบบทาวเวอร์ที่มีขนาดเล็กที่สุด เงียบที่สุด และใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดในโลก ซึ่งออกแบบมาเพื่อธุรกิจขนาดเล็กและโฮมออฟฟิศที่มักไม่มีการจัดสรรพื้นที่ใน บริษัทสำหรับดูแลเซิร์ฟเวอร์แยกต่างหากโดยเฉพาะ โดย ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 มาพร้อมกับฟังก์ชันต่างๆ ครบถ้วนเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในกลุ่ม ไพรเมอร์จี ที่ได้รับรางวัลมาก่อนหน้านี้มากมาย ขณะเดียวกันก็ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยลง ปล่อยความร้อนและเสียงรบกวนน้อยกว่าเดิม ที่สำคัญยังประหยัดพลังงานมากกว่าด้วย

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์สำหรับดูแลงานเฉพาะทาง กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งบนระบบไอทีที่พบเห็นได้ทั่วไป แม้กับในธุรกิจขนาดเล็ก ตั้งแต่สถาบันด้านสุขภาพ สำนักงานกฎหมาย โบรกเกอร์จัดการด้านการลงทุนและประกันภัย ฟรีแลนซ์ ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ไปจนถึงสำนักงานสาขาของบริษัทขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดีมีบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้จำนวนไม่มากที่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับ สร้างห้องเพื่อแยกจัดเก็บเซิร์ฟเวอร์และโครงสร้างพื้นฐานระบบไอที ทำให้บ่อยครั้งเซิร์ฟเวอร์เครื่องใหญ่ที่มีเสียงดังรบกวน จึงถูกตั้งห่างจากโต๊ะทำงานของพนักงานในบริษัทเพียงไม่กี่ฟุตเท่านั้น ตรงกันข้ามกับการออกแบบของ ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 ที่มีขนาดเพียงหนึ่งในสามของเซิร์ฟเวอร์ทั่วไป ทำงานได้เงียบกว่า และไม่รบกวนบุคคลรอบข้าง ใช้พลังงานเพียง 163 วัตต์ ซึ่งทำให้ ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 กินไฟเทียบเท่ากับหลอดไฟในสำนักงานทั่วไปเท่านั้น

ขนาดที่เล็กกว่า: ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 กว้างเพียง 4 นิ้ว สูง 13 นิ้ว และยาวเพียง 16 นิ้วเท่านั้น

มีเสียงรบกวนน้อยกว่า: ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 มีเสียงรบกวนในระดับ 28 เดซิเบล ในขณะที่ไม่มีการประมวลผล และเพียง 31 เดซิเบลในระหว่างการทำงาน ซึ่งถือว่ามีเสียงรบกวนต่ำกว่าเซิร์ฟเวอร์มาตรฐานทั่วไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

ใช้พลังงานน้อยกว่า: ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 ที่มีการตั้งค่าให้ทำงานอย่างเต็มสมรรถนะ ใช้พลังงานน้อยกว่าเซิร์ฟเวอร์มาตรฐานทั่วไปถึง 35-40 เปอร์เซ็ต์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,500 บาท) (1) ต่อปีต่อเซิร์ฟเวอร์ โดยการทำงานแบบเต็มที่ของ โพรเซสเซอร์ ดูอัล-คอร์ อินเทล ซีออน ยูพี (Dual-Core Intel Xeon UP) จะใช้พลังงานสูงสุดเพียง 163 วัตต์ เท่านั้น

ไพรเมอร์จี เซิร์ฟเวอร์ ทีเอ็กซ์ 120 มาพร้อมกับ ไพรเมอร์จี เซิร์ฟเวอร์วิว รีโมตแมเนจเมนต์ (PRIMERGY Server View Remote Management) ที่ทำให้การจัดการ ดูแลความปลอดภัยเซิร์ฟเวอร์เป็นเรื่องง่าย ประหยัด และทำได้จากสถานที่ใดเวลาใดก็ได้ สะดวกทั้งกับบริษัทขนาดเล็กที่พึ่งพาที่ปรึกษาในการดูแลบริหารเซิร์ฟเวอร์ ไปจนถึงสำนักงานสาขาของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฝ่ายไอทีจากสำนักงานใหญ่เป็นผู้ ดูแลระบบ

“ไพรเมอร์จี ทีเอ็กซ์ 120 ถือเป็นก้าวสำคัญในการตอบสนองความต้องการของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งทางฟูจิตสึ เล็งเห็นว่าเป็นตลาดที่สำคัญและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว” ริชาร์ด แม็คคอร์แมค รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดและเซิร์ฟเวอร์ ของ ฟูจิตสึ คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์ กล่าวว่า “เครื่องไพรเมอร์จี เซิร์ฟเวอร์ ทีเอ็กซ์ 120 เป็นหนึ่งในผลงานของเราที่เกิดจากความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนอย่าง จริงจังทั่วทั้งองค์กรในทุกผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่”

ข้อมูลทางเทคนิค:

  • โพ รเซสเซอร์ ดูอัล-คอร์ อินเทล ซีออน ยูพี พร้อมด้วยหน่วยความจำแบบเอสแอลซี (SLC – Single Level Cell) ขนาด 4 เมกะไบต์ และทำงานที่ความเร็วฟร้อนต์ไซด์บัส 1066 เมกะเฮิร์ตซ์ หรือโพรเซสเซอร์ อินเทล เซเลอรอน (Intel Celeron) (พร้อมวางจำหน่ายเดือนกันยายน 2550 นี้)
  • หน่วยความจำระบบแบบ DIMM จำนวน 4 แถว รองรับสูงสุดที่ 8 กิกะไบต์ พร้อมคุณสมบัติอีซีซี (ECC – error correction code)
  • 4 พอร์ตสำหรับควบคุมเอสเอเอส (SAS controller) พร้อมเรด (RAID) 0, 1 และ 1E
  • รองรับฮาร์ดดิสก์แบบเอสเอเอส (SAS – Serial Attached SCSI) ที่ถอดเปลี่ยนได้จำนวน 2 ลูก
  • มา พร้อมกับระบบควบคุมจัดการจากทางไกล (iRMC – Integrated Remote Management Controller) และชุดเสริมคุณสมบัติด้านการควบคุมชั้นสูง (iRMC Advanced Pack)
  • อีเธอร์เน็ตแบบ 1 กิกะบิตต่อวินาที พร้อมด้วยเซอร์วิสแลนสำหรับคุณสมบัติไออาร์เอ็มซี (Service LAN for iRMC)

ที่มา  : ARiP IT News

Asus P565 : Review

เมื่อ มองย้อนกลับไปช่วงต้นปีหลายคนอาจจะคงเคยได้ยินข่าว เกี่ยวกับพีดีเอโฟนที่มีระบบประมวลผลไวที่สุดกันบ้างแล้ว สำหรับใครที่ยังไม่รู้ทางทีมงานจะบอกให้ทราบว่า พีดีเอโฟนรุ่น P565 ของค่ายอัสซุสที่ออกมาช่วงต้นปีต้อนรับปีฉลูนั้น ไวและแรงสมคำล่ำลือจริงๆ ด้วยซีพียูที่ให้ความเร็วถึง 800 MHz ทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างลื่นไหล และยังเป็นรุ่นแรกของอัสซุสที่มาพร้อมกับระบบนำทางอัจฉริยะ Garmin Mobile XT ทำให้ไม่ต้องกลัวหลงอีกต่อไป

Feature On Asus P565

Asus Today


หน้าจอแรกที่ต้องได้เห็นและสัมผัส คงหนีไม่พ้น “Asus Today” ที่เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ทั้งเลือกดูและเปลี่ยนแปลงได้อย่างสะดวก ประกอบไปด้วย 6 แท็ปด้วยกันได้แก่ แท็ปแรกรูปนาฬิกา จะแสดงชื่อเครือข่าย, วัน-วันที่, เวลา และการตั้งปลุก ไล่จากบนลงล่างตามลำดับ แท็ปที่ 2 รูปเครื่องหมายตกใจ จะเป็นการแสดงเบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, ข้อความ SMS, MMS และE-mail แท็ปที่ 3 รูปปฏิทิน จะแสดงบันทึกแจ้งเตือนการนัดหมายที่อยู่ในปฏิทิน

ถัดมาแท็ปที่ 4 รูปเมฆ จะแสดงผลการพยากรณ์สภาพอากาศได้ทั่วโลก ทั้งนี้ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อด้วย แท็ปที่ 5 เป็น ‘RSS’ แสดงรายการข้อมูลข่าวสารตามที่ได้กำหนดไว้ สุดท้ายแท็ปที่ 6 รูปตัวโน้ต จะแสดงโปรแกรมเครื่องเล่นเพลงที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘EziMusic’ สามารถเข้าไปเล่นเพลงผ่านทางด้านนี้ได้เลย หรืออาจจะบอกว่าเป็นเส้นทางลัดเข้าสู่โปรแกรมเครื่องเล่นเพลงก็ว่าได้

MultiHome


นอกจากนี้ “Asus Today” ยังสามารถเลือกลักษณะการใช้งานได้ 3 รูปแบบด้วย กัน ได้แก่ Original, Business และLife ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ โดยเลือกสัมผัสสัญลักษณ์ คล้ายๆแฟ้มกำลังเปิด ทางด้านมุมบนขวามือ จากนั้นก็เลื่อนเลือกลักษณะทั้ง 3 รูปแบบได้ด้วยการกดปุ่มควบคุมไปทาง ซ้าย-ขวา หรือจะลากเส้นเป็นแนวนอนบนหน้าจอด้วยปากกาสไตลัส

AnyTime Launcher

ฟีเจอร์ถัดมาคือ “AnyTime Launcher” ซึ่งเป็นโปรแกรมเสริมที่ช่วยให้สามารถเรียกใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ, จัดการงาน และเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าได้ง่ายขึ้น เลือกใช้งานได้โดยการกดปุ่มทางลัดที่ติดตั้งมาให้อยู่เหนือปุ่มโทรออก เครื่องก็จะรันโปรแกรม “AnyTime Launcher” ขึ้นมา ซึ่งแสดงรายชื่อหมวดหมู่ฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ประกอบไปด้วย 7 หมวดหลักด้วยกันได้แก่ 1. Recent Programs เป็นการแสดงรายชื่อโปรแกรมที่เปิดใช้งานล่าสุด 2. Favorite Programs เป็นการแสดงแอปพลิเคชันที่ใช้งานบ่อย ซึ่งสามารถเลือกเพิ่มได้ตามความต้องการของผู้ใช้

ถัดมา 3. Favorite Contacts เป็นการแสดงรายชื่อผู้ติดต่อ ที่ผู้ใช้เพิ่มเข้าไปเพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกที่สุด 4. Message Center เป็นศูนย์รวมการบันทึกต่างๆ ทั้งสายที่ไม่ได้รับ, ข้อความ SMS, ข้อความ MMS และE-mail 5. Internet เป็นศูนย์รวมข้อมูลของการเรียกใช้แอปพลิเคชันอินเทอร์เน็ตต่างๆ ได้แก่ เรียกดูบราวเซอร์ Internet Explorer, บุ๊กมาร์ค, ประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต(Browse History), โปรแกรมสนทนา Messenger, Share pictures, Share videos, Streaming Player และNewsStation

6. Multimedia ศูนย์รวมความบันเทิงทั้งหมดที่มีอยู่ในเครื่อง ได้แก่ โปรแกรม EziPhoto, โปรแกรม EziMusic, กล้องถ่ายภาพ (Camera) และกล้องวิดีโอ (Camcorder) สุดท้าย 7.My Settings เป็นการการตั้งค่าการใช้งานต่างๆ ได้แก่ รูปแบบ(Profile), Task Manager สำหรับจัดการโปรแกรม, Flight mode, การตั้งปลุก(Alarm), เสียงเรียกเข้า(Ring Tone), การตั้งค่าธีม(Theme) และการตั้งค่าล็อกใช้งาน(Device Lock)

การใช้งานโทรศัพท์ผ่านทางหน้าจอสัมผัสสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก กล่าวคือ มีปุ่มกดตัวเลขขนาดใหญ่ หน้าจอขณะใช้งานมีเมนูให้เลือก 6 รูปแบบด้วยกันคือ เปิดลำโพง, ปิดเสียง, พักสาย, จดโน้ต, ดูรายชื่อผู้ติดต่อ และประวัติการโทรทั้งหมด

ส่วนการเชื่อมต่อต่างๆสามารถตอบสนองได้อย่างครบครัน เริ่มจากระบบ 3G ผ่านกล้อง Video Call ส่วนการใช้งานผ่าน HSDPA ต้องรอในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งตอนนี้ให้ใช้ EDGE/GPRS และไวเลส ไปพลางๆก่อน นอกจากนี้ ยังมีบลูทูธ 2.0 และระบบ GPS ที่ทางอัสซุสได้ลิขสิทธิ์แผนที่จาก Garmin

Camera


“กล้อง”ที่ให้มากับ ‘Asus P565′ มีความละเอียด 3 ล้านพิกเซลแบบออโต้โฟกัส แต่ไม่มีแฟลชมาให้ โหมดการถ่ายภาพประกอบไปด้วย พาโนรามา, ถ่ายภาพแบบบันทึกพิกัด GPS, ถ่ายแบบใส่ธีมให้กับรูปภาพ, วิดีโอ, ภาพนิ่ง, MMSวิดีโอ และMMSภาพนิ่ง

ในส่วนของ‘เมนูภาพนิ่ง’ ประกอบไปด้วย ซีน (ออโต้, กลางคืน และกีฬา) การถ่ายภาพโหมดมาโคร การตั้งเวลาถ่าย(5 กับ10 วินาที) ถ่ายภาพต่อเนื่อง (4 กับ 9 ช็อต) ความละเอียดของภาพ (2048 z 1536, 1600 x 1200, 1024 x 768 และ640 x 480 พิกเซล) ส่วนการตั้งค่าระดับสูง ได้แก่ สมดุลสีขาว (Auto, Sunny, Cloudy, Incandescence และFluorescent) เอฟเฟกต์ (Normal, Black-White, Negative และSepia), คุณภาพของภาพ, รูปแบบไฟล์ภาพ, เสียงชัเตอร์ ปรับความคมชัดได้ 7 ระดับ ฯลฯ

ส่วนการถ่าย“วิดีโอ”มี โหมดที่ประกอบด้วย ขนาดของวิดีโอ (320 x 240 , 160 x 120 และ80 x 60 พิกเซล) การปรับแต่งคล้ายกับการบันทึกภาพนิ่ง การตั้งค่าระดับสูง ได้แก่ มีให้เลือกรูปแบบนามสกุลไฟล์ที่ต้องการบันทึก คือ MPEG4 หรือ 3gp ตั้งคำนำหน้าไฟล์ที่บันทึก และการตั้งค่าว่าจะให้บันทึกเสียงลงไปพร้อมกับวิดีโอด้วยหรือไม่

Program And Setting

ในส่วนของโปรแกรม ทีมงานขอแนะนำที่น่าสนใจนอกเหนือจากโปรแกรมมาตรฐานของวินโดวส์ โมบายล์ในเครื่องรุ่นนี้ ได้แก่ Call Filter, Garmin Mobile XT, EziPhoto และEziMusic ซึ่งรายละเอียดต่างๆมีดังต่อไปนี้

Call Filter

เป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับกรองรายชื่อและข้อความว่า จะให้รับหรือปฏิเสธรายชื่อ-ข้อความที่กำลังจะติดต่อเข้ามา ยกตัวอย่าง หากต้องการให้คนที่เราไม่อยากจะติดต่อด้วยมาติดต่อกับเราอีก ก็สามารถทำได้ง่ายๆโดยเลือกกล่องหน้าคำว่า ‘Enable’ จากนั้นเลือก ‘Reject List’ ช่องถัดมาเลือกหมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการจะปฏิเสธหากติดต่อเข้าามา ซึ่งสามารถดึงหมายเลขได้จากรายชื่อในสมุดโทรศัพท์ได้เลย เท่านี้บุคคลดังกล่าวก็ไม่สามารถติดต่อเราได้แล้ว

Garmin Mobile XT

โปรแกรมแผนที่ลิขสิทธ์ของค่าย ‘Garmin’ เมื่อกดเข้าที่ตัวโปรแกรมจะพบแถบแสดงระดับสัญญาณ GPS อยู่มุมซ้ายบน ถัดมาด้านล่างมี 2 โหมดหลักให้เลือกใช้งาน คือ 1. ค้นหาตำแหน่ง ใช้สำหรับหาตำแหน่งต่างๆโดยมีให้เลือกหมวดย่อยดังต่อไปนี้ บ้าน, ที่อยู่, จุดน่าสนใจ, ที่พบล่าสุด, Contacts, ตำแหน่งที่ใช้ประจำ, พิเศษ, เมือง, ค้นหาแยก, ภาพถ่ายพาโนรามา, Location Messages และค่าพิกัด 2. ดูแผนที่ ใช้สำหรับดูว่าขณะนี้เราอยู่ตรงจุดไหนบนแผนที่ โดยเครื่องจะค้นหาพิกัดปัจจุบันสักพักนึงเมื่อกดเข้ามาใช้โหมดนี้ และสามารถใช้ในการนำทางได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 โหมดการใช้งานเสริมทางด้านขวาคอยอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น คือ 1. Garmin Online ประกอบไปด้วย สภาพอากาศ ภาพถ่าย Panoramio และสถานะสมาชิกภาพ 2. เครื่องมือ ประกอบไปด้วย ตั้งค่า, Location Messages, รายการเส้นทาง, แผนที่, ฉันอยู่ไหน, จัดการข้อมูลส่วนตัว, สถิติการเดินทาง, จำลองเส้นทาง และรูปภาพของฉัน

EziPhoto


โปรแกรมใช้สำหรับดูรูปภาพที่ อยู่ภายในเครื่องทั้งหมด หากอยากรู้ว่ารูปภาพนั้นถ่ายภาพมาวันไหน สามารถเลือกดูได้ในรูปแบบของปฏิทิน การใช้งานควบคุมผ่านทางหน้าจอสัมผัส กล่าวคือ ลากผ่านหน้าจอซ้าย-ขวา เมื่อต้องการเลื่อนดูภาพ ลากผ่านหน้าจอในแนวทแยงมุม เมื่อต้องการขยายภาพ ลากโค้งเป็นวงกลม เมื่อต้องการหมุนรูปภาพ นอกจากนี้ ยังสามารถแสดงรูปภาพในรูปแบบสไลด์โชว์ ที่มีลูกเล่นการใช้งานเหมือนกับโปรแกรมสไลด์โชว์ทั่วๆไป คือ มีเอฟเฟกต์ กำหนดเวลาได้ และใส่เพลงประกอบ

EziMusic


โปรแกรมเครื่องเล่นเพลง ซึ่งสามารถเข้าสู่ตัวโปรแกรมได้หลายทางดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เมื่อกดเข้าสูโปรแกรมจะเข้าสู่หน้า ‘Library’ ที่มีไอคอนฟังก์ชันสวยๆชวนให้เลือกใช้งาน ได้แก่ All, Artist, Album, Genre, Playlists และ Protected โดยก่อนจะเลือกใช้งานให้กดที่ ‘Update’ เพื่อให้โปรแกรมอัปเดตเพลงที่ใส่เพิ่มเข้ามาใหม่ก่อน ส่วนโหมดการเล่นมีให้เลือกใช้ ได้แก่ เล่นแบบสุ่มรายชื่อ, เล่นแบบวนซ้ำ หรือจะเปิดใช้พร้อมทั้ง 2 แบบก็ทำได้ การตั้งค่ามีให้เลือกใช้ 2 อย่าง คือ หยุดเล่นเพลงเมื่อเข้าไปใช้โปรแกรมอื่นๆ กับเล่นเพลงต่อเนื่องหลังจากวางสายการสนทนา ซึ่งเลือกใช้งานได้โดยการเลือกกล่องหน้าข้อความ

หลังจากดูโปรแกรมที่ให้มากันเต็มอิ่มแล้ว คราวนี้ลองไปดูส่วนของการตั้งค่ากันบ้าง ที่เห็นน่าสนใจจากการตั้งค่าบนวินโดวส์ โมบายล์ทั่วไป ได้แก่ CPU Mode เป็นฟังก์ชันการตั้งค่า การทำงานของหน่วยประมวลผลให้ตรงกับการใช้งานของผู้ใช้มากที่สุด โดยมีให้เลือกใช้ทั้งหมด 4 โหมด ได้แก่ Automatic Mode, Turbo Mode, Standard Modeและ Power Saving Mode, ASUS Today เป็นการตั้งค่าเวลาหลัก และเวลารองสำหรับไปเยือนต่างแดน และ Theme Manager ที่มีลูกเล่นธีมมาให้เลือกใช้ 4 แบบ ได้แก่ ASUS Easy Life, ASUS Stardust Silver, ASUS Nice day และPersonalized Theme

มาดูกันในส่วนของรายละเอียดเครื่องรุ่นนี้กัน เริ่มจากเครื่องรุ่นนี้ใช้ Windows Mobile 6.1 Professional build 19965.1.2.3 ROM เวอร์ชัน 6.2.0S.WWE00 ส่วนซีพียูจะเป็น Marvell Tavor PXA930 800 MHz Ram ขนาด 128 MB Rom ขนาด 256MB

Design of Asus P565

Asus P565 ถูกดีไซน์ออกมาให้มีรูปทรงแบบทื่อๆ แต่แอบซ่อนความหรูหราไว้ให้เห็นด้วยการใช้วัสดุหนังบุทางด้านหลังเครื่อง เพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยในแบบเรียบๆ ตัวเครื่องมีขนาด 102 x 60.5 x 16 ม.ม. น้ำหนัก 120 กรัม เมื่อลองสัมผัสสามารถจับถือได้เหมาะมือ ถึงแม้ตัวเครื่องจะดูอ้วนท้วมนิดๆ แต่น้ำหนักไม่ได้หนักตามลักษณะรูปทรงที่เห็นแต่อย่างใด

ด้านหน้า : ไล่จากด้านบนจะพบลำโพงสนทนาวางอยู่ตรงกึ่งกลางเครื่อง ใกล้กันทางด้านซ้ายเป็นเลนส์กล้องทางด้านหน้า สำหรับใช้ ‘Video Call’ ถัดมาซ้ายสุดเป็นไฟกระพริบแบบ ‘LED’ ซึ่งจะกระพริบเป็นสีต่างๆตามสถานะการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ สีเขียว : ชาร์จไฟเข้าโทรศัพท์เต็มแล้ว, สีเขียวกระพริบ : ตรวจพบเครือข่าย, แดง : กำลังชาร์จโทรศัพท์, แดงกระพริบ : แจ้งเตือนเหตุการณ์, น้ำเงินกระพริบ : บลูทูธ, WiFi หรือGPS ทำงาน ถัดลงมาเป็นพื้นที่ของจอแสดงผล TFT-LCD 65,536 สีแบบสัมผัส ขนาด 2.8 นิ้ว(480 x 640 พิกเซล)

ใต้จอแสดงผลจะพบโลโก้ “ASUS” สีเงินวางพาดอยู่กึ่งกลางตัวเครื่อง ถัดลงมาเป็นปุ่มควบคุม ประกอบไปด้วย ฝั่งซ้ายมีปุ่มลัด AnyTime Launcher สำหรับเรียกแอปพลิเคชัน AnyTime Launcher กับปุ่มโทรออก ตรงกลางเป็นปุ่มควบคุม 5 ทิศทาง ฝั่งขวามีปุ่ม OK กับปุ่มวางสาย

ด้านหลัง : พลิกตัวเครื่องมาทางด้านหลังจะพบกับเลนส์กล้องอยู่ทางด้านขวาเหนือฝาหลัง ซึ่งมีความละเอียด 3 ล้านพิกเซลออโต้โฟกัส ถัดลงมาเล็กน้อยเป็นแถบช่องลำโพงสำหรับขับเสียงเมื่อเปิดใช้งานสื่อเสียง ต่างๆ ถัดลงมาเป็นส่วนของฝาหลังที่แอบซ่อนความหรูหราอย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้น ด้วยการบุหนังลายสีดำ

เมื่อเปิดฝาหลังออก จะพบกับช่องวางแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 1,300 mAh หากถอดแบตออกเหนือช่องวางแบตฯจะพบกับช่องช่องเสียบซิมการ์ดอยู่ทางด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นช่องเสียบการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD ถูกออกแบบในลักษณะวางซ้อนกัน

ด้านขวา : ไล่จากด้านบนสุดเป็นปากกาสไตลัส ถัดมาเป็นปุ่มล็อกการใช้งานของเครื่อง สามารถกดเปิด-ปิดได้โดยการเลื่อนปุ่มขึ้น-ลง ส่วนล่างสุดเป็นปุ่มเมนูลัดสำหรับเข้าโหมดถ่ายรูป รวมถึงใช้เป็นปุ่มชัตเตอร์ด้วย

ด้านซ้าย : ด้านบนเป็นพอร์ตเสาอากาศ GPS เพื่อให้สามารถรับสัญญาณได้ดีขึ้นมีฝาพลาสติกหุ้มปิดมิดชิด ถัดลงมาเป็นปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียง


ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนมีเพียงปุ่ม “Power” เท่านั้น(กดค้างเพื่อเปิด-ปิดเครื่อง) ส่วนด้านล่างมีช่องเสียบอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสายชาร์จแบตเตอรี่ และชุดหูฟัง ซึ่งใช้ร่วมกันที่ช่องนี้เพียงช่องเดียวในแบบ mini USB ใกล้กันเป็นรูสำหรับกด ‘reset’ เครื่อง เหนือเล็กน้อยที่เห็นเป็นรูเล็กๆ 2 รู ใช้สำหรับร้อยสายคล้องโทรศัพท์ ที่ร้อยมาจากด้านในตัวเครื่อง ส่วนฝั่งซ้ายเป็นรูไมโครโฟน

บทสรุป

สำหรับ Asus P565 รุ่นนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในบรรดาพีดีเอโฟนทั้งหลาย เนื่องจากคุณสมบัติที่ให้มากับตัวเครื่องมีให้เลือกใช้กันอย่างครบครัน รวมถึงสเปกเครื่องที่ใส่ซีพียูความเร็วถึง 800 MHz ซึ่งเมื่อเห็นตัวเลขหน่วยประมวลผลที่ให้มาต้องบอกว่าสูงมาก ภายหลังจากลองใช้งานก็ไม่ทำให้ผิดหวังสามารถตอบสนองได้ไวเลยทีเดียว แต่อย่าลืมพลังงานแบตฯก็จะหมดไวตามไปด้วย ถึงแม้ว่าจะให้แบตฯขนาด 1,300 mAh มาใช้ก็ตาม

โดยเวลาในการใช้งานแบตเตอรี่ถือว่าพอเหมาะพอดี ซึ่งจากการทดลองใช้งานจริงแบบหนักๆ โดยมีการเปิดใช้ GPS นำทางประมาณ 1 ชั่วโมง เปิดการเชื่อมต่อทุกอย่าง กับเปิดเพลงฟังตลอดเวลาใช้งาน เล่นอินเทอร์เน็ต กับถ่ายภาพเป็นบางช่วง ที่เหลือเป็นการใช้งานทั่วไปแบบต่อเนื่องตลอดเวลา สามารถใช้งานได้ประมาณ 5 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้งานเป็นบางช่วงเวลา สามารถอยู่ได้ 1 วัน สบายๆ

การใช้งานโทรศัพท์ทั่วไป เสียงสนทนาอยู่ในระดับมาตรฐานไม่เบาเกินไป การรับสัญญาณของเครื่องทำได้ดี ส่วนเสียงที่ขับออกมาจากลำโพงทางด้านหลังตัวเครื่อง ความดังของเสียงอยู่ในระดับปานกลางไม่ดังมากเท่าไรนัก รวมถึงเสียงที่ได้ยินไม่ค่อยมีมิติ จะออกโทนเสียงแหลมเป็นหลัก

หลังทดลองการใช้งาน GPS ของเครื่องรุ่นนี้พบว่า สามารถรับสัญญาณได้ค่อนข้างไวและแม่นยำพอสมควร พกติดตัวไว้ไม่มีหลงทางแน่นอนครับ ส่วนกล้องที่ให้มากับตัวเครื่องถึงแม้ว่าจะให้ความละเอียดค่อนข้างสูง แต่น่าเสียดายที่ไม่ติดแฟลชมาให้ใช้ด้วย ลูกเล่นฟังก์ชันต่างๆถือว่าใส่มาให้ใช้กันอย่างสนุก คุณภาพของภาพที่ได้เมื่อปรับการใช้งานละเอียดสุดอยู่ในระดับปานกลาง ยังไม่ค่อยคมเท่าไร อาการค้างมีให้เห็นบ้างเป็นบางครั้ง

ขอชม
– ความเร็วที่ให้มาสามารถตอบสนองได้เร็วทันใจ
– แม้ตัวเครื่องจะมีรูปทรงที่อ้วนท้วม แต่น้ำหนักไม่ได้หนักตามไปด้วย
– การนำทางทำได้ลื่นไหล และแม่นยำ

ขอติ
– กล้อง 3 ล้านพิกเซลพร้อมระบบออโต้โฟกัส แต่ไม่มีแฟลช
– ช่องเสียบเมมโมรี่การ์ดอยู่ใต้แบตฯ ทำให้ใช้งานไม่ค่อยสะดวก เมื่อต้องการถอดเข้า-ออก

สำหรับราคาเปิดตัวของ Asus P565 อยู่ที่ประมาณ 21,900 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

จากผู้จัดการ Online