นิสิตปริญญาเอกจุฬาฯ เผยผลสำรวจเด็กไทยวัยเรียน มีภาวะโภชนาการเกินเกือบร้อยละ 50 เด็กชาย ลูกคนเล็ก-คนเดียว เสี่ยงอ้วนมากสุด โอกาสโตแล้วอ้วนถึงร้อยละ 25 แนะรัฐเร่งแก้ไขให้เป็นวาระแห่งชาติ เสนอใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมเข้าช่วย พร้อมรณรงค์ให้ทารกแรกเกิดได้ดื่มนมแม่นาน 6 เดือน ลดโอกาสโตแล้วอ้วน
น.ส.นริสรา พึ่งโพธิ์สภ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ศึกษาวิจัยปัญหาภาวะโภชนาการเกินหรือ “ภาวะอ้วน” ในเด็กไทย พบมีเด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 9-12 ปี อยู่ในกลุ่มภาวะอ้วนถึงครึ่งหนึ่ง และเสี่ยงป่วยเป็นโรคอื่นๆ ได้มากกว่าคนปรกติ ทังยังอาจกระทบต่อประชากรวัยแรงงานของประเทศ นับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรผลักดันการแก้ปัญหาให้เป็นวาระแห่ง ชาติ
นักวิจัยได้ทำการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากบุคคลในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายโภชนาการของประเทศ กลุ่มผู้บริหารและครูโภชนาการในโรงเรียน และกลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีและไม่มีภาวะโภชนาการเกินพร้อมผู้ปกครอง จำนวน 39 ราย เพื่อจัดทำแบบสอบถามที่เหมาะสมในการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ โดยการให้เด็กวัยเรียนที่มีอายุระหว่าง 9-12 ปี และผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,863 คู่ กรอกแบบสอบถาม ซึ่งเด็กในช่วงอายุดังกล่าวอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทั้งน้ำหนักและส่วนสูงอย่างชัดเจน
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับใช้เกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็กไทยโดยเปรียบเทียบน้ำหนักกับส่วนสูง พบว่าเด็กในกลุ่มตัวอย่างมีภาวะโภชนาการเกินถึงร้อยละ 49 หรือเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กที่มีภาวะโภชนาการปกติ พบว่าทั้งสองกลุ่มมีพฤติกรรมการกินไม่แตกต่างกัน แต่การทำกิจกรรมแตกต่างกัน โดยเด็กที่อ้วนนั้นส่วนใหญ่ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยกว่า
นอกจากนั้นเด็กผู้ชายและเด็กที่เป็นลูกคนเดียวหรือลูกคนสุดท้องจะมี แนวโน้มอ้วนมากกว่า เนื่องจากค่านิยมของคนไทยที่มักให้ความสำคัญแก่บุตรชายมากกว่า และมักดูแลเอาใจใส่ลูกคนเดียวหรือลูกคนสุดท้องมากเป็นพิเศษ
“ภาวะโภชนาการเกินในเด็กเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยรวม ซึ่งเด็กที่อ้วนมีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึงร้อยละ 25 ส่วนวัยรุ่นที่อ้วน มีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึงร้อยละ 75 ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นคือมีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ข้อเสื่อม และเบาหวาน ส่วนผลกระทบโดยอ้อม จะทำให้คุณภาพของประชากรลดน้อยถอยลง ประชากรวัยแรงงานไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถเป็นฐานการผลิตของประเทศที่เข้มแข็งได้” น.ส.นริสรา อธิบายกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีงานวิจัยในต่างประเทศมากมายที่ระบุว่ายีนเป็นปัจจัยที่ทำให้อ้วน ทว่าปัจจัยทางสังคมก็มีส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้อ้วนได้ ซึ่งในอดีตเด็กไทยเคยมีปัญหาภาวะโภชนาการต่ำ แต่หลังจากแก้ปัญหาดังกล่าวได้กล่าวได้แล้วกลับกลายเป็นว่าปัญหาภาวะ โภชนาการเกินเข้ามาแทนที่ เพราะเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าขึ้น ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม
ส่วนมาตรการแก้ปัญหาภาวะโภชนาการเกินในเด็กไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่น้อย ทว่าก็ไม่เป็นผลเท่าที่ควร ซึ่งนักวิจัยชี้แจงว่าเพราะมีการใช้มาตรการทางสุขศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ขาดมาตรการทางวิศวกรรมและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งควรนำมาใช้แก้ปัญหาควบคู่กัน ซึ่งในหลายประเทศมีการแก้ปัญหาภาวะโภชนาการเกินในเด็กด้วยวิธีการดังกล่าว ประสบผลสำเร็จมาแล้วไม่น้อย และรัฐบาลควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เน้นที่การป้องกันมากกว่าแก้ไข และร่วมมือกันดำเนินการแบบพหุภาคี
นักวิจัยเสนอมาตรการทางวิศวกรรมว่าควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เด็กได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น พัฒนาเครื่องออกกำลังกายแบบครบวงจรสำหรับเด็กวัยเรียน ออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้ผู้เล่นได้ออกกำลังกายในขณะเล่นเกม ส่วนมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ใช้กลไกภาษีในการปรับปรุงคุณภาพอาหารให้มีประโยชน์มากขึ้น สำหรับอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือทำให้อ้วนก็อาจเก็บภาษีมากกว่า หรือสนับสนุนอาหารที่มีประโยชน์ให้มีราคาถูกลง เป็นต้น
“นอกจากนี้ยังมีรายงานวิจัยในต่างประเทศว่านมแม่สามารถป้องกันไม่ให้ ลูกอ้วนได้ นอกจากคุณค่าทางโภชนาการสูงที่ทราบกันอยู่แล้ว เพราะมีฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยระบบเผาผลาญในร่างกายได้ดี จึงควรรณรงค์ให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดโอกาสไม่ให้เด็กอ้วนได้” น.ส.นริสรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม.
จากผู้จัดการ Online