Tag Archives: ลายไทย

กระเบื้องเพ้นท์ลาย สร้างรายได้

นายวาริ วัฒนรุกข์

ธุรกิจกับงาน ศิลปะ ดูจะเป็นสิ่งที่เป็นเส้นขนานกันมาโดยตลอด แต่เมื่อไหร่ที่ทั้ง 2 เส้นได้มาบรรจบกับได้ บัดนั้นก็จะเกิดเป็นผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ที่มีการทำการตลาดควบคู่กันไปด้วย เช่นเดียวกับ “ชอ วอ แฮนดิคราฟท์” ของอดีตหนุ่มบริษัทโฆษณา ที่จับพลัดจับผลูเดินทางเข้าสู่งานเซรามิก จนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน

จากคำชักชวนของเพื่อนให้ไปช่วยผลิตงานให้ที่ จ.ลำปาง ทำให้ นายวาริ วัฒนรุกข์ ผู้จัดการทั่วไป หจก.ชอ วอ แฮนดิคราฟท์ ได้รู้ขั้นตอนการผลิตเซรามิก จนได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ และรู้เทรนด์ของต่างชาติที่ในช่วงนั้นนิยมงานเพ้นท์รูปบนแผ่นกระเบื้อง จึงได้ลองกลับมาผลิตงานดังกล่าวกับเพื่อน พร้อมส่งเข้าประกวดจนได้ และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากภาพเขียนรูปแวนโก๊ะ (Vincent Willem van Gogh) บนกระเบื้อง ประเภทเซรามิกสีบนเคลือบ

กระจกดีไซน์ โดยใช้กระเบื้องมาต่อๆ กันแล้วเพ้นท์ลาย

และเมื่อผลงานได้รับรางวัลจึงนำผลงานไปจัดแสดงที่แกลลอรี่ ซึ่งชาวต่างชาติ ก็ชื่นชอบผลงานและสั่งให้ผลิต โดยช่วงแรก (ปีพ.ศ.2539) ใช้เงินทุนเริ่มต้นประมาณ 200,000 บาท และปีที่ 2 ของการผลิตงานต้องเพิ่มทุนเป็น 1.5 ล้านบาท เนื่องจากมีออเดอร์เพิ่มมากขึ้น

“ไอ เดียการนำแผ่นกระเบื้องมาต่อกัน แล้วเขียนลวดลายลงไป ถือว่าได้แนวคิดมาจากต่างชาติ ที่ต้องการหาภาพงานศิลปะแนวใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และงานเพ้นท์ภาพบนแผ่นกระเบื้อง ที่ถือว่าเป็นงานแฮนด์เมด มีรูปแบบไม่ซ้ำใคร ส่วนลูกค้าญี่ปุ่นก็ชื่นชอบผลงานลักษณะนี้เช่นกัน โดยสั่งให้ทำสีบนแผ่นกระเบื้องให้ แต่เมื่อสินค้ามีตำหนิก็ถูกตีกลับ ทำให้ผมนำแผ่นกระเบื้องเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นเศษเล็กๆ เพื่อนำมาทำเป็นโมเสก ผสมผสานงานเพ้นท์ ก็สามารถขยายตลาดให้กับลูกค้าในประเทศเยอรมันนีได้อีกทางหนึ่ง ส่งผลให้ช่วงนั้นมียอดสั่งสินค้าประมาณ 300,000 บาท/เดือน”

กระจกโมเสก ลูกค้าชื่นชอบ

ต่อมาเมื่อปี 2540 ถือเป็นปีแห่งวิกฤตของผู้ประกอบการไทย แต่สำหรับสินค้าของนายวาริ ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเน้นการส่งออกเกือบ 100% ต่างชาติยังให้การตอบรับสินค้าเป็นอย่างดี รวมถึงชาวญี่ปุ่น ก็ได้นำอ่างล้างมือมาให้เพ้นท์ เป็นลวดลายตามต้องการอีกด้วย ซึ่งงานประเภทนี้หาคนทำยาก เนื่องจากรายละเอียดค่อนข้างเยอะ และต้องใช้เวลา ดังนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงงานเหล่านั้น ซึ่งก็ถือว่าจุดขายหนึ่งของ ชอ วอ แฮนดิคราฟท์ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

ลายไทยๆ ก็โดนใจต่างชาติ

สำหรับขั้นตอนการผลิตสำหรับนายวาริ แล้วถือว่าไม่ยากนัก เนื่องจากตนเองมีพื้นฐานจากการเรียนเพาะช่าง ที่ต้องเรียนงานด้านศิลปะเกือบทุกแขนง และหนึ่งในนั้นคืองานเซรามิก ที่ต้องเริ่มจากการเขียนลายตามต้องการ และนำไปเผาเพื่อให้สีที่เพ้นท์ซึมลงไปในแผ่นกระเบื้อง จนได้ผลงานที่โดนใจลูกค้าออกมา แต่ขั้นตอนที่ยากคือการจัดองค์ประกอบของภาพให้ตรงใจลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยความรู้ และศึกษาเทรนด์งานศิลปะอย่างสม่ำเสมอ

อ่างล้างหน้า ลูกค้าญี่ปุ่นก็นำมาให้เพ้นท์ลาย

ปัจจุบัน ชอ วอ แฮนดิคราฟท์ ได้หันมาทำตลาดในเมืองไทยเกือบ 100% เนื่องจากที่ผ่านมาภาคการส่งออกของไทยชะลอตัว ดังนั้นการทำตลาดในประเทศน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เน้น สินค้าประเภทของตกแต่งบ้าน ที่คนไทยหันมาใส่ใจในการนำงานศิลปะไปตกแต่งบ้านกันมากขึ้น ซึ่งสินค้าของ ชอ วอ แฮนดิคราฟท์ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ กระจกเพ้นท์ลายผสมงานโมเสก, ภาพแขวนโชว์ และการเพ้นท์ลายบนเครื่องสุขภัณฑ์ เป็นต้น โดยเน้นผลิตตามออเดอร์ของลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ และผลิตเพื่อใช้ในการจัดแสดงงานเล็กน้อย เพื่อโปรโมทสินค้าให้ลูกค้าได้รู้จักงานประเภทนี้มากขึ้น โดยราคาจะเริ่มต้นที่ 35 – 100,000 บาท

นำไปตกแต่งบ้านก็สวยไปอีกแบบ

ส่วนลูกค้าจะเป็นกลุ่มของนักออกแบบตกแต่งภายใน และลูกค้าประจำที่มีกำลังซื้อสูง นำไปตกแต่งบ้าน หรือสั่งให้ผลิตผลงานตามความต้องการ ในสัดส่วนที่พอๆ กัน ซึ่งนายวาริ ไม่คิดจะมีหน้าร้าน เนื่องจากตนเองไม่ชอบงานด้านบริหาร จะถนัดงานด้านการผลิตมากกว่า ซึ่งตนขอเพียงให้มีออเดอร์จากลูกค้าประจำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็คิดว่าจะนำพาธุรกิจนี้ให้รอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันไปได้

ลวดลายเริ่มหันมาคนใจคนวัยทำงาน

**สนใจติดต่อ 08-4170-8822**
จากผู้จัดการ Online